วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เรื่อง ประวัติรัฐธรรมนูญ



รัฐธรรมนูญฉบับแรก          :          พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒          :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๓          :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๔          :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว)  พุทธศักราช ๒๔๙๐
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๕          :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๖          :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๗          :           ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๘          :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๙          :           ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๐        :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๑        :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๒        :           ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๓        :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๔        :           ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๕        :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๖        :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๗        :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๘        :           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

 รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ใช้ในการปกครองประเทศภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้แก่ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕
รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สองของประเทศไทย
รัฐธรรมนูญ ๔ ฉบับ ที่มีอายุการใช้บังคับยาวนานที่สุด ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งใช้บังคับเป็นเวลายาวนานที่สุดถึง ๑๓ ปี ๕ เดือน(ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นเวลา ๑๒ ปี ๒เดือน (๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๑ - ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ ซึ่งมีอายุการใช้บังคับนาน ๙ ปี ๔ เดือน ๒๓ วัน (๒๘ มกราคม ๒๕๐๒ - ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๑) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งมีอายุการใช้บังคับนาน ๘ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน (๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ – ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙)
รัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับ ที่มีอายุการใช้บังคับสั้นที่สุด ได้แก่ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งใช้บังคับเป็นเวลาเพียงแค่ ๕ เดือน ๑๓ วัน (ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ปีเดียวกัน) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งใช้บังคับเป็นเวลา ๙ เดือน ๙ วัน (๑ มีนาคม ๒๕๓๔ – ๙ ธันวาคม ๒๕๓๔) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย      พุทธศักราช ๒๕๑๙ ซึ่งมีอายุการใช้บังคับเพียงปีเดียวก็ถูกยกเลิก (๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๙ - ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๐)
รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุด ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ ซึ่ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้เวลาร่างนานถึง ๙ ปี ๔ เดือน แต่เมื่อได้นำไปประกาศใช้ กลับมีอายุการใช้บังคับได้เพียง ๓ ปี ๔ เดือน ๒๘ วัน เท่านั้น ก็มีอันต้องเลิกใช้ เนื่องจากการปฏิวัติตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔
มีรัฐธรรมนูญ ๔ ฉบับ ที่บัญญัติให้ “อำนาจพิเศษ” แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อระงับและปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายหรือก่อกวนความมั่นคงและความสงบสุข ของประเทศอย่างเฉียบขาด โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ (มาตรา ๑๗) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๙(มาตรา ๒๑) และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ (มาตรา ๒๗)
  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเกี่ยวกับสาระสำคัญที่เด่นๆ ดังต่อไปนี้
-    การคุ้มครองสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภค
-    การให้สิทธิแก่คนพิการที่หูหนวกและเป็นใบ้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้
-    สิทธิที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ก่อนที่จะอนุญาตหรือดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของตนหรือชุมชนท้องถิ่น
-    สิทธิที่จะต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการรัฐประหารหรือการล้มล้างรัฐบาลโดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ
-    กำหนดให้รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น รวมทั้งสนับสนุนให้นำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
-    กำหนดให้มีแผนพัฒนาการเมืองและจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ
-    กำหนดให้มีกฎหมายแม่บทเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ และปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
-    กำหนดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม
-    กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งสองประเภท ได้แก่ สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพรรค (ปาร์ตี้ลิสต์) จำนวน ๑๐๐ คน และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละคน จำนวน ๔๐๐ คน
-    กำหนดให้วุฒิสภามีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามเขตจังหวัด มีจำนวน ๒๐๐ คน ทำหน้าที่ตรวจสอบเป็นด้านหลักและกลั่นกรองกฎหมายเป็นด้านรอง
-    กำหนดให้เอาหีบบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปเทนับรวมกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่งแห่งใดเพียงแห่งเดียว เช่น บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ
-    กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องสำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
-    กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมืองที่ส่งสมัครเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
-    กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน
-    กำหนดห้ามมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาใช้สถานะหรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำหรือพนักงานของรัฐ
-    กำหนดให้รัฐสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องการจัดที่ปิดประกาศและที่ติดแผ่นป้ายโฆษณาเลือกตั้ง การพิมพ์และจัดส่งเอกสารเลือกตั้งไปให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และการจัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น
-    กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการเลือกตั้งทุกระดับ โดยให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองทั้งหมด ในระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งหมดรวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จะตกอยู่กับประธานกรรมการการเลือกตั้งทั้งสิ้น
-    กำหนดให้มีการบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และเปิดเผยให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้
-    กำหนดให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญสองสมัย ๆ ละ ๑๒๐ วัน และในหนึ่งสมัยต้องเป็นสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ซึ่งจะพิจารณาได้เฉพาะกฎหมายเท่านั้น
-    กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้
-    กำหนดให้สิทธิแก่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนที่จะเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายตามหมวด ๓ (สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย) และหมวด ๕ (แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ) เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาได้
-    กำหนดให้เป็นอำนาจร่วมกันระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เป็นผู้วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ที่จะต้องส่งไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง หรือไม่
-    กำหนดให้รัฐสภาสามารถมีมติให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินแต่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ต่อไปได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการดึงเอาวุฒิสภามาช่วยงานด้านนิติบัญญัติของรัฐบาลนั่นเอง
-    กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการการเลือกตั้งทั่วไป กรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร สามารถขอให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ ต่อไปได้ อันเป็นการประหยัดเวลาที่ไม่ต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
-    กำหนดให้มีการตั้งกระทู้ถามสดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ครั้งละหนึ่งชั่วโมง โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงแต่แสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อนเริ่มประชุมในวันนั้นว่าจะถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใด โดยไม่ต้องระบุคำถาม
-    กำหนดให้การยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ต้องมีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้า พร้อมทั้งต้องยื่นรายชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย และเมื่อได้มีการยื่นญัตติแล้วจะยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ แต่ถ้าหากการเสนอญัตติดังกล่าว เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือส่อว่าทุจริต จะต้องยื่นให้ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนหรือส่งดำเนินคดีหรือส่งให้วุฒิสภาทำการถอดถอนถ้า ป.ป.ช. เห็นว่าข้อกล่าวหามีมูลความผิดพร้อมกันไปด้วย
-    กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก สตรี และคนชรา หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ หากมิได้พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภา จะต้องพิจารณาโดยกรรมาธิการวิสามัญซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
-    กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๑๑ คน มีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรืออันไม่เป็นไปตามพันธะกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
-    กำหนดให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด
-    กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันถัดจากวันที่ครบสามสิบวัน นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
-    กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน แต่การออกเสียงประชามติดังกล่าวต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอปรึกษาความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการหรือไม่ และการออกเสียงประชามติดังกล่าวมีผลเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น โดยไม่ผูกพันว่า คณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ
-    กำหนดให้มีการให้บำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาซึ่งพ้นจากตำแหน่ง โดยกำหนดให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา
-    กำหนดให้การรวมหรือการโอนกระทรวง ทบวง กรม ที่มีผลเป็นการจัดตั้งเป็นกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นใหม่ หรือการรวมหรือการโอนกระทรวง ทบวง กรม ที่มิได้มีการจัดตั้งเป็นกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นใหม่ โดยไม่มีการกำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างเพิ่มขึ้น หรือการยุบกระทรวง ทบวง กรม สามารถตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้
-    กำหนดให้การนั่งพิจารณาคดีของศาล ต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้
-    กำหนดให้การจับและคุมขังบุคคลในคดีอาญาต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับ ต้องแจ้งให้ญาติทราบ และต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน
-    กำหนดให้การค้นในที่รโหฐานต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล
-    กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้เสียหายและพยานในคดีอาญา รวมทั้งการปฏิบัติที่เหมาะสมและจ่ายค่าตอบแทนที่จำเป็น
-    กำหนดให้รัฐจ่ายค่าตอบแทนแก่จำเลยซึ่งถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีและศาลได้พิพากษาว่ามิได้เป็นผู้กระทำความผิด
-    กำหนดให้รัฐจ่ายค่าตอบแทนแก่บุคคลที่ได้รับโทษทางอาญาโดยคำพิพากษาของศาล ซึ่งต่อมามีการรื้อฟื้นคดี และศาลพิพากษาใหม่ว่ามิได้เป็นผู้กระทำความผิด
-    กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่
-    กำหนดให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของศาลฎีกา ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ไต่สวนและทำสำนวนคดี ซึ่งสรุปว่า ข้อกล่าวหามีมูล
-    กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครองมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น
-    กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น
-    กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จำนวน ๙ คน มีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภา เพื่อให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติและส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ รวมทั้งสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนการตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน ตามที่ได้มีการยื่นแสดงบัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอื่นๆ ด้วย
-    กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอื่นๆ มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องทำการตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว ถ้าพบว่าแจ้งเท็จหรือจงใจไม่ยื่นต้องพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลา ๕ ปี สำหรับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย
-    กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอว่า ร่ำรวยผิดปกติหรือส่อทุจริตได้ โดยใช้คะแนนเสียงในการลงมติถอดถอนจำนวนไม่น้อยกว่าสามในห้าของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด
-    กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ หรือประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เช่น ประธานศาลฎีกา และอัยการสูงสุด เป็นต้น โดยที่คำร้องขอดังกล่าวต้องระบุพฤติกรรมที่กล่าวหาเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน
-    กำหนดให้การยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร (๑๐๐ คน) หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา (๑๔๐ คน)
 
            ๖๗. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในสาระสำคัญที่เด่นๆ ดังต่อไปนี้
- บัญญัติให้รัฐสภาเป็นระบบสองสภา สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ จำนวน ๔๐๐ คน และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนอีก ๘๐ คน จาก ๘ เขตเลือกตั้ง หรือ ๘ กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ เขตละ ๑๐ คน ทั้งหมดรวมเป็น ๔๘๐ คน ส่วนวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ๗๖ คน จังหวัดละหนึ่งคน และสมาชิกที่มาจากการสรรหาอีก ๗๔ คน รวมเป็น ๑๕๐ คน
- บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีมีจำนวนไม่เกิน ๓๖ คน เท่ากับในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ แต่สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งถึงแม้จะให้มาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรโดยเปิดเผยและต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหมือนกับในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เหมือนในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ พูดง่ายๆ คือ สามารถสวมหมวกสองใบในเวลาเดียวกันได้ นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. มาก่อน เมื่อต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
- รัฐธรรมนูญปี ๕๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียว ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะตั้งกระทู้ถาม อภิปราย หรือแม้แต่ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคที่ตนสังกัดได้ โดยไม่ต้องฟังมติพรรค
- การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี สามารถทำได้ง่ายเพราะใช้เสียงเพียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า (๙๖ คน) การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ เพราะใช้เสียงเพียงหนึ่งในหก (๘๐ คน)
- เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และสมาชิกวุฒิสภา สามารถเสนอร่างกฎหมายได้เอง โดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีเสียก่อน ทั้งนี้ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรอิสระเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ศาลหรือองค์กรอิสระเสนอร่างพระราชบัญญัติ ส่วนสมาชิกวุฒิสภาสามารถเข้าชื่อร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ (๖๓ คน) เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด สามารถเข้าชื่อยื่นเสนอได้ โดยไม่ต้องขอมติพรรคที่ตนสังกัดเสียก่อน
- เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่บัญญัติบังคับให้ฝ่ายบริหารต้องจัดสรรงบประมาณ ให้แก่ ศาลและองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ตามที่ต้องการ และเป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ เหล่านั้น สามารถขอแปรญัตติเพิ่มเติมงบประมาณจากคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
- ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายได้ จำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ และจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
- เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่กำหนดอายุการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี โดยห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปี
- เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่บัญญัติให้มีตำแหน่ง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” และ “ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่มากและกว้างขวางกว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” ตามรัฐธรรมนูญปี ๔๐ มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และข้าราชการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- รัฐธรรมนูญปี ๕๐ ได้ยกเลิกการเอาหีบบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเทนับรวมกัน ณ สถานที่เดียว แล้วให้นับคะแนนเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งอย่างเดิม
- เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ได้ยกฐานะสำนักงานอัยการเป็น “องค์กรอัยการ” ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
- บัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือ “ให้ใบแดง” แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. หลังจากที่ กกต. ประกาศผลแล้ว และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือ “ให้ใบแดง” แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
- กำหนดให้การทำหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ รัฐต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และเมื่อมีการลงนามแล้ว ต้องให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของสัญญานั้นด้วย
- กำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือจัดตั้งสหภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
- กำหนดให้ “ชุมชน” ทั่วไป มีสิทธิฟ้องร้องหน่วยราชการและหน่วยงานของรัฐ ในคดีที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน นอกเหนือจาก “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ตามรัฐธรรมนูญปี ๔๐
- กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ทุกฉบับ ต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
- เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่บัญญัติให้มีหมวดการเงิน การคลัง และงบประมาณ รวมทั้งหมวดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
- กำหนดให้ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ต่อสาธารณชนด้วย นอกเหนือจากที่ให้เปิดเผยเฉพาะบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรีที่ต้องเปิดเผยตามรัฐธรรมนูญปี ๔๐

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

                      คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505

                                       
คดีปราสาทพระวิหาร เป็นความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2502
คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2447 ถึง พ.ศ. 2451 ประเทศฝรั่งเศสมีฐานะเป็นรัฐผู้อารักขากัมพูชา ได้ทำสัญญากับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ทางการสยามได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของราชอาณาจักรสยาม ไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า "แผนที่ผนวก 1" (Annex I map) )
กระนั้น สยามไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง ท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง ต่อมา มีการประชุมคณะกรรมการที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2452 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 นี้เป็นหลัก ก็ไม่มีผู้คัดค้าน
ปี พ.ศ. 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าว และในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลไทยไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2473 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสรับเสด็จในฐานะทรงเยือนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา แม้ในระหว่าง พ.ศ. 2477-2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มีการทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรสยาม แต่สยามยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel)
ปี พ.ศ. 2501 หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่งเจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 เป็นหลักฐานสำคัญ ซึ่งแม้เส้นเขตแดนบนแผนที่จะไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเกณฑ์ แต่แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยถูกคัดค้านจากรัฐบาลสยามและไทยมาก่อน
ดังนั้นในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 นอกจากนั้นยังตัดสินด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกมาจากปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว


                                
                                  
สรุปผลการตัดสินคดีเขาพระวิหารเบื้องต้น
    ศาลโลกมีมติเอกฉันท์ให้พื้นที่โดยรอบพระวิหารเป็นของกัมพูชา และขอให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาททั้งหมด นอกจากนั้นขอให้ไทย - กัมพูชา ทำการเจรจาหารือกันโดยมียูเนสโก้ดูแล อย่างไรก็ตามการพิจารณาคดีครั้งนี้ไม่ครอบคลุมพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร
      ด้านนายวีระชัย พลาศัย ทูตตัวแทนจากไทยได้แถลงข่าวว่า ทางกัมพูชาไม่ได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามที่ร้องขอ ศาลจึงไม่ได้มอบพื้นที่ภูมะเขือที่กัมพูชาต้องการ โดยศาลได้ฝากให้ไทยและกัมพูชาช่วยกันดูแลเขาพระวิหารที่ถูกยกให้เป็นมรดกโลก